about us

ประวัติคณะอุตสาหกรรมเกษตร

ก่อร่างสร้างตัว (พ.ศ.2524-พ.ศ.2530)

  • คณะอุตสาหกรรมเกษตรถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2524 เป็นภาควิชาหนึ่งของคณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยมีรองศาสตร์ตราจารย์  ดร.ศุภชัย รตโนภาส เป็นคณบดีในสมัยนั้น เมื่อครั้งแรกภาควิชาอุตสาหกรรมเกษตรมีอาจารย์ประจำภาควิชา 3 ท่าน ได้แก่ อาจารย์อนงค์ วรอุไร รองศาสตราจารย์ ดร.ระติพร หาเรือนกิจ และ รองศาสตราจารย์ ดร.วรรณา ตั้งเจริญชัย เปิดรับสมัครนักศึกษารุ่นแรก ปี พ.ศ. 2526 ในหลักสูตรระดับปริญญาตรี (หลักสูตรต่อเนื่อง 2 ปี) สาขาวิชาอุตสาหกรรมเกษตร จำนวน 10 คน โดยใช้อาคารปฏิบัติการแปรรูปอาหาร  ( Processing 1 ) ซึ่งเป็นอาคารปฏิบัติการหลังใหม่ของภาควิชา เพื่อใช้เป็นที่สำหรับการเรียนการสอนทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ และปัจจุบันอาคารดังกล่าวยังใช้ประโยชน์ในการเรียนการสอนอยู่
  • ภาควิชาอุตสาหกรรมเกษตรมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ. 2528 ได้เปิดรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีหลักสูตร 4 ปี สาขาวิชาอุตสาหกรรมเกษตร (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร) จำนวน 30 คน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการเติบโตของภาควิชาทั้งในด้านกำลังคน และ จำนวนนักศึกษา ต่อมาในปี พ.ศ. 2530 ภาควิชาได้ย้ายสำนักงานไปยังอาคารเรียนหลังใหม่ของคณะเทคโนโลยีการเกษตร (อาคารบุนนาค หรือตึก L)  ซึ่งเป็นก้าวสำคัญของ “โอกาส” ในการพัฒนาด้านการเรียนการสอนที่ต้องพึ่งพาห้องปฏิบัติการเป็นปัจจัยสำคัญ

 

ลืมตาอ้าปาก (พ.ศ. 2531 – พ.ศ. 2537)

    จากนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยที่มุ่งเน้นอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก โดยเฉพาะในเรื่องของอาหาร (พ.ศ. 2528 – พ.ศ. 2538) และ ส่งผลต่อความต้องการกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารมากขึ้น ภาควิชาอุตสาหกรรมเกษตรได้มีส่วนร่วมในการผลิตบัณฑิตเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของประเทศโดยเปิดสอนหลักสูตรระดับปริญญาตรีเพิ่มอีก 2 หลักสูตร ในสาขาวิชาเทคโนโลยีการหมัก  และสาขาวิชาวิศวกรรมแปรรูปอาหาร รวมทั้งพัฒนาขีดความสามารถด้านงานวิจัยด้วยการเปิดหลักสูตรระดับปริญญาโทสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การอาหาร ที่สามารถนำงานวิจัยไปใช้แก้ปัญหาผลผลิตทางการเกษตรที่ล้นตลาดในประเทศ และพัฒนาบุคลากรเพื่อตอบสนองความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
 

ประกาศศักดา (พ.ศ.2538 – พ.ศ.2544)

  • การพัฒนาของภาควิชาอุตสาหกรรมเกษตรในช่วงนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นช่วงของการก้าวกระโดด เนื่องจากความต้องการบัณฑิตด้านอุตสาหกรรมอาหารมีมากยิ่งขึ้น ภาควิชาอุตสาหกรรมเกษตรจึงได้เปิดโครงการผลิตบัณฑิตภาคพิเศษระดับปริญญาตรีในหลักสูตรต่อเนื่อง 2 ปี และหลักสูตร  4 ปี และได้รับการสนับสนุน ครุภัณฑ์ อุปกรณ์ในด้านการเรียนการสอนและวิจัยเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ภาควิชาอุตสาหกรรมเกษตรมีขีดความสามารถการพัฒนางานวิจัยที่มีคุณภาพสูงขึ้น ดังจะเห็นได้จากผลงานวิจัยที่ได้รับการจดสิทธิบัตร พ.ศ. 2543 “สิทธิบัตรการประดิษฐ์กระบวนการผลิตข้าวสำเร็จรูปบรรจุกระป๋อง” โดยรองศาสตราจารย์ ดร.วุฒิชัย  นาครักษา นอกจากนี้ภาควิชายังได้รับความร่วมมือผ่านกระทรวงต่างประเทศในการร่วมวิจัยด้านข้าว กับ Nanchang University ประเทศจีนอีกด้วย
  • ในปี พ.ศ.2544 คณะอุตสาหกรรมเกษตรได้เปิดหลักสูตรระดับปริญญาโท สาขาวิชาสุขาภิบาลอาหาร ซึ่งเป็นหลักสูตรด้านอาหารปลอดภัย และซึ่งมีความจำเป็นต่อบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมอาหาร  นับว่าเป็นหลักสูตรพิเศษซึ่งเป็นที่ต้องการของภาคเอกชนอย่างแท้จริงที่ต่อยอดองค์ความรู้ทางอุตสาหกรรมอาหาร

 

เป็นสถาบันชั้นนำ (พ.ศ. 2545 – พ.ศ. 2550)

  • จากการพัฒนาประเทศที่อาศัยพื้นฐานข้อได้เปรียบของความสมบูรณ์ของทรัพยากรอาหาร เพื่อสร้างความเป็นเลิศด้วยนโยบายการให้ประเทศไทยเป็นครัวโลก (Kitchen of the world) รวมทั้งผลิตอาหารปลอดภัย ทำให้ในปี พ.ศ.2547 โครงการคณะอุตสาหกรรมเกษตรได้เปิดหลักสูตรระดับปริญญาเอก สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การอาหาร และ หลักสูตรปริญญาโทสาขาวิชาเทคโนโลยีการจัดและบริการอาหาร  มีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ ไต้หวัน เกาหลี นักศึกษาได้รับทุนเพื่อศึกษาต่อในต่างประเทศ เช่น Mokpo National University ในระดับปริญญาโท และ ปริญญาเอก
  • ผลงานวิจัยของคณาจารย์ที่สร้างความภูมิใจให้แก่คณะอุตสาหกรรมเกษตรในการมีส่วนร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารที่มีความหลากหลายโดยมุ่งเน้นการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรของประเทศเป็นสำคัญ ได้แก่ พ.ศ.2546 งานวิจัยสิทธิบัตรการประดิษฐ์การผลิตข้าวกล้องนึ่งสำเร็จรูป ของ รองศาตราจารย์    ดร.วุฒิชัย นาครักษา พ.ศ.2547 รางวัลทุนปัญญาท้องถิ่นไทยไข่ต้มหลอด ของ รองศาสตราจารย์เยาวลักษณ์  สุรพันธวิศิษฐ์ และพ.ศ. 2548 รางวัลที่ 1 ในการประกวดผลงานทรัพย์สินทางปัญญาสาขาสิทธิบัตรด้านการประดิษฐ์กรรมวิธีการผลิตแป้งขมนตาลกึ่งสำเร็จรูป ของ รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติพงศ์  ห่วงรักษ์
  • จากความมุ่งมั่นที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2550 สภาสถาบันฯ จึงได้อนุมัติให้จัดตั้งคณะอุตสาหกรรมเกษตรทำให้คณะ สามารถจัดการเรียนการสอนที่ครอบคลุมสาขาวิชาที่จำเป็นต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรของประเทศไทยทัดเทียมสถาบันการศึกษาอื่น ๆ ได้อย่างเต็มภาคภูมิ

 

ก้าวสู้สากล (พ.ศ.2551-ปัจจุบัน)

  • คณะอุตสาหกรรมเกษตรมีการพัฒนาของทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่องมีความร่วมมือกับองค์กรด้านอาหารทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในและต่างประเทศเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับชาติและนานาชาติ จวบจน ปี พ.ศ.2552 คณะผลิตผลงานวิจัยหลายโครงการที่มีความโดดเด่นและสร้างมูลค่าให้แก่ผลิตผลทางการเกษตร ที่มีความสำคัญของประเทศ ได้แก่ งานวิจัยภายใต้ความร่วมมือระหว่างไทย-เกาหลี เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากข้าวกล้องงอก งานวิจัยการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อผลิตน้ำส้มสายชูหมักจากข้าวโพดฝักอ่อน และงานวิจัยการผลิตน้ำส้มสายชูจากข้าวอินทรีย์
  • นอกจากนี้คณะอุตสาหกรรมเกษตรยังให้ความสำคัญต่อการยกระดับความเป็นสากลของการเรียนการสอน และงานวิจัยโดยนักศึกษาระดับปริญญาเอก หลักสูตรวิทยาศาสตร์การอาหารได้ร่วมงานวิจัยในต่างประเทศ ได้แก่ งานวิจัยสารต้านอนุมูลอิสระจากกระเจี๊ยบ ที่ National Pingtung University ประเทศไต้หวัน งานวิจัยการเปลี่ยนแปลงกลิ่นของผลส้มที่เคลือบด้วยสารเคลือบแตกต่างกัน ที่ Catholic University of Leuven ประเทศเบลเยี่ยม และร่วมวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญด้านกลิ่นรสเพื่อศึกษาสารประกอบที่ให้กลิ่นจากเทียนอบสำหรับกลิ่นของขนมไทย  University of Illiois at Urbana Champaign ประเทศสหรัฐอเมริกา  งานวิจัยด้านน้ำมันและไขมันที่ University of Georgia at Athens ประเทศสหรัฐอเมริกา 
  • ในปี พ.ศ. 2554 คณะอุตสาหกรรมเกษตรได้ปรับปรุงหลักสูตรทั้งหมด 7 หลักสูตรให้เป็นไปตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (TQF) ได้แก่ 

1)    หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร 
2)    หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการหมักในอุตสาหกรรม 
3)    หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมแปรรูปอาหาร 
4)    หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การอาหาร
5)    หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการจัดและบริการอาหาร
6)    หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการความปลอดภัยอาหาร 
7)    หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การอาหาร

  • ในปี พ.ศ.2558 รองศาสตราจารย์ ดร.วุฒิชัย นาครักษา ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติในระดับนานาชาติ Brussels Innova 2015 ณ ประเทศเบลเยี่ยม จากผลงานเรื่อง    “สารเจลโลสจากเมล็ดมะขามของประเทศไทยและการประยุกต์ใช้”
about us2

 

  • ในปี พ.ศ. 2559 คณะอุตสาหกรรมเกษตรได้ปรับปรุงหลักสูตรทั้งหมด 7 หลักสูตร โดยมีการปรับเปลี่ยนชื่อหลักสูตรใหม่ ได้แก่ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีการหมักในอุตสาหกรรมอาหาร และหลักสูตรปริญญาโท สาขาวิชาเทคโนโลยีการบริการอาหารและการจัดการ 
  • ในปี พ.ศ. 2560 ศาสตราจารย์ ดร.วราวุฒิ ครูส่ง ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง “ศาสตราจารย์” ในสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ รวมทั้งได้รับหนังสือรับรองอนุสิทธิบัตรงานวิจัยเรื่อง “ระบบผลิตน้ำส้มสายชูหมักด้วยตัวผสมน้ำหมักเข้ากับอากาศภายในถังหมัก (Internal Venturi Ejector System)” อีกทั้งปี พ.ศ. 2561 ศาสตราจารย์ ดร.วราวุฒิ ครูส่ง ได้รับหนังสือรับรองอนุสิทธิบัตรเรื่อง “กรรมวิธีการผลิตวุ้นเซลลูโลสเสริมกลิ่นและรสชาติ และผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกรรมวิธีดังกล่าว” นอกจากนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิทธิพงศ์ นลินานนท์ ได้รับหนังสือรับรองอนุสิทธิบัตรเรื่อง “เครื่องดื่มน้ำทับทิมพร้อมดื่มที่มีส่วนผสมของสารอาหารเสริม” 
  • ในระหว่างปี 2560-ปัจจุบัน เป็นช่วงปีที่คณะอุตสาหกรรมเกษตรมีความก้าวหน้าทางผลงานวิจัยอย่างเห็นได้ชัด ทางคณะได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสถาบันภายใต้ “โครงการ Academic Melting Pot” โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการกระตุ้นให้บุคลากรของคณะมีการผลิตงานวิจัยและตีพิมพ์ผลงานร่วมกับนักวิจัยชาวต่างชาติ เช่น โครงการการสร้างมูลค่าทุเรียนไทยในตลาดโลก ร่วมกับนักวิจัยจาก The Hebrew University of Jerusalem ประเทศอิสราเอล โครงการพัฒนาเชิงบูรณาการเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงจากหน่อไม้และวัสดุเศษเหลือ กับนักวิจัยจาก Inje University สาธารณรัฐเกาหลี งานวิจัยทางด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวร่วมกับนักวิจัยจาก Cranfield University สหราชอาณาจักร และงานวิจัยทางด้านความปลอดภัยทางอาหาร โดยร่วมมือกับนักวิจัยจาก Foggia University ประเทศอิตาลี 
  • นอกจากนี้คณะอุตสาหกรรมเกษตรดำเนินพันธกิจในด้านการบริการวิชาการ โดยมีการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาทางอุตสาหกรรมอาหาร (Food Industry Research and Development Center) ซึ่งมีพันธกิจในการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาความร่วมมืองานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหาร กับทั้งทางภาครัฐและเอกชน และให้บริการทางวิชาการ โดยนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ได้จากงานวิจัยถ่ายทอดสู่ภาคอุตสาหกรรมอาหารและชุมชน เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์และการพัฒนาต่อกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารและชุมชนอย่างยั่งยืน โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาทางอุตสาหกรรมอาหาร ได้จัดทำการเผยแพร่ในรูปแบบของการจัดฝึกอบรม การจัดสัมมนา และการจัดประชุมวิชาการ 
  • ในปี พ.ศ. 2562 คณะอุตสาหกรรมเกษตรได้เปิดหลักสูตรใหม่ คือ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์การประกอบอาหารและการจัดการการบริการอาหาร (Culinary Science and Foodservice Management) ซึ่งเป็นหลักสูตรนานาชาติที่บูรณาการวิทยาศาสตร์และศิลปะของการปรุงอาหารหลักสูตรแรกในประเทศไทย โดยมีความร่วมมือกับ Business & Hotel Management School (B.H.M.S.) ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ นักศึกษาจะเรียนที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังเป็นเวลา 3 ปี และประเทศสวิสเซอร์แลนด์เป็นเวลา 1 ปี เมื่อสำเร็จการศึกษา จะได้รับ 3 ปริญญา คือ 

1)    Bachelor of Science (Culinary Science and Foodservice Management): King Mongkut's Institute of Technology Ladkrabang
2)    Bachelor Degree in Culinary Arts: Business and Hotel Management School (BHMS), Switzerland
3)    Bachelor Degree in Culinary Arts: Robert Gordon University, United Kingdom

    คณะอุตสาหกรรมเกษตรได้เตรียมความพร้อมเพื่อการผลิตบัณฑิตคุณภาพ และสามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ โดยบัณฑิตที่จบการศึกษา จักมีความรู้ ความสามารถโดยเฉพาะด้านทักษะด้านปฏิบัติการในสาขาวิชาอย่างแท้จริง ทั้งนี้คณะอุตสาหกรรมเกษตรได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างอาคารปฏิบัติการแปรรูปอาหาร และอาคารเรียนและปฏิบัติการคณะอุตสาหกรรมเกษตร โดยอาคารทั้งสองหลังจะสามารถเอื้ออำนวยการเรียนการสอน และวิจัยได้เป็นอย่างดี เพื่อมุ่งสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้และสร้างนวัตกรรมด้านอาหารแห่งอาเซียน

1
  • ในปี 2563 คณะอุตสาหกรรมเกษตร ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "คณะอุตสาหกรรมอาหาร"
  • ในปี 2564 คณะอุตสาหกรรมอาหาร ได้มีการปรับปรุงอาคารแปรรูปเก่า คณะอุตสาหกรรมอาหาร เป็นอาคาร 2 ชั้น ที่เปิดใช้งานอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 30 ปี มีการเสื่อมสภาพและชำรุดทรุดโทรมเป็นอย่างมาก ทำให้ไม่สามารถใช้งานในพื้นที่อาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ทางคณะอุตสาหกรรมอาหารจึงได้ทำการเสนอของบประมาณในการปรับปรุงอาคารดังกล่าว ในการปรับปรุงเป็นห้องปฏิบัติการด้านอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อรองรับการจัดการเรียนการสอน และการศึกษาค้นคว้าวิจัยของนักศึกษา รวมถึงการจัดสรรพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของอาจารย์ นักศึกษา ศิษย์เก่า และผู้ประกอบการที่ทำงานด้านอุตสาหกรรมอาหาร ภายใต้ชื่อ อาคารปฏิบัติการ Building for Edutainment & Research (BEAR)      กดหฟ