เครื่องจักรอุตสาหกรรมอาหารสุดเจ๋ง
Food vector created by macrovector - www.freepik.com
สายการผลิตแบบอัตโนมัตินั้นได้มีการใช้งานกันในระบบการผลิตของภาคอุตสาหกรรมเป็นปกติอยู่แล้ว แต่มักเป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่หรือมาจากการย้ายฐานหรือเทคโนโลยีการผลิตแบบอัตโนมัติมาพร้อมกับการเริ่มต้นธุรกิจแต่ปัจจุบันระบบการผลิตแบบอัตโนมัติได้มีการเพิ่มประสิทธิภาพและมีราคาที่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมขนาดกลางและเล็กสามารถเข้าถึงและใช้งานได้ และมีโซลูชั่นมากมายหลายรูปแบบโดยเฉพาะหุ่นยนต์อุตสาหกรรมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ระบบอัตโนมัติเพื่อการผลิตก็เป็นหนึ่งในวิธีการเพิ่มความสามารถในการผลิตจากการคาดการณ์ International Federation of Robotics (IFR) ระบุว่ายอดขายหุ่นยนต์ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 6% โดยเฉลี่ยต่อปีนั่นหมายความว่า หุ่นยนต์อุตสาหกรรมจะเริ่มเข้ามามีบทบาทอย่างมากในกระบวนการผลิตซึ่งโดยทั่วไปสามารถจัดแบ่งหุ่นยนต์อุตสาหกรรมตามลักษณะการทำงานได้ ดังนี้
1. Articulate Robot มีลักษณะคล้ายคลึงกับแขนของมนุษย์ตั้งแต่ช่วงหัวไหล่ลงไปมีความสามารถในการทำงานและการเคลื่อนที่คล้ายแขนมนุษย์ จึงมักเรียกหุ่นยนต์ชนิดนี้ว่า“แขนกล” และยังเป็นหุ่นยนต์ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในงานอุตสาหกรรมได้หลากหลายรูปแบบมากกว่าชนิดอื่นๆ นั่นเอง
2. Fixed Sequence Robot เป็นหุ่นยนต์ที่ออกแบบให้ทำงานโดยมีเครื่องควบคุมแบบซีเควนเซอร์ (sequencer) ซึ่งมีหน้าที่สั่งงานเรียงตามลำดับ เช่น ถ้ามีซีเควนเซอร์ 10 ตัว ตัวแรกสั่งทำงาน เมื่อทำงานเสร็จตามคำสั่งตัวที่ 2 ก็จะเริ่มทำงาน และทำงานเรียงตามลำดับที่ 3, 4, 5 ไปจนถึงตัวที่ 10 เครื่องควบคุมแบบซีเควนเซอร์อาจเป็นวงจรไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์นิวแมทิกหรือไฮดรอลิกก็ได้ เมื่อทำงานที่เปลี่ยนลำดับขั้นการทำงานใหม่ จะต้องเปลี่ยนวงจรควบคุมใหม่
3. Variable Sequence Robot เป็นหุ่นยนต์ทำงานตามลำดับขั้นตอนที่เปลี่ยนลำดับได้เอง มีความคล้ายคลึงกับแบบที่ 2 แต่ต่างกันที่หุ่นยนต์กลุ่มนี้สามารถปรับเปลี่ยนวงจรที่มีอยู่ได้โดยง่าย ทำให้สะดวกต่อการเปลี่ยนแปลงชุดคำสั่งการทำงานมากกว่าแบบที่ 2
4. Play Back Robot เป็นหุ่นยนต์ทำงานตามชุดคำสั่งที่บันทึกไว้ โดยชุดคำสั่งการทำงานจะถูกบันทึกไว้ในเครื่องบันทึกความจำ ตัวอย่างเช่น ชุดคำสั่งเกี่ยวกับลำดับขั้นตอนการทำงาน และการปรับตำแหน่ง เป็นต้น ชุดคำสั่งดังกล่าวจะถูกเรียกออกมาสั่งให้หุ่นยนต์ทำงานตามที่ได้บันทึกไว้ การบันทึกความจำนั้นนิยมใช้วิธีสอนให้หุ่นยนต์ทำงาน โดยผู้สอนจับมือหุ่นยนต์ให้ทำงานตามที่ผู้สอนต้องการ สมองหุ่นยนต์จะบันทึกข้อมูลได้ เมื่อสอนเสร็จหุ่นยนต์จะทำงานเลียนแบบที่เรียนมานั้นได้
5. Numerical Control Robot หุ่นยนต์ควบคุมด้วยตัวเลข ในหุ่นยนต์แบบนี้คำสั่งบังคับการทำงานของหุ่นยนต์มีลักษณะเป็นตัวเลข (numercial data) ชุดคำสั่งที่ใช้บังคับหุ่นยนต์อาจอยู่ในแถบหรือจานแม่เหล็กหรืออื่นๆ
6. Intelligent Robot หุ่นยนต์คิดเองได้ เป็นหุ่นยนต์ที่มีประสาทรับความรู้สึก เช่น สามารถมองเห็นได้ สามารถตัดสินใจเกี่ยวกับขั้นตอนการทำงานได้ เป็นต้น